จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สินสอด ทองหมั้น


สินสอด

คือสิ่งของที่ฝ่ายชายมอบให้บิดามารดาฝ่ายหญิง เพื่อเป็นค่าที่ท่านได้เลี้ยงดูว่าที่เจ้าสาว มาจนเติบใหญ่จนมีวันนี้ได้

ของหมั้น

คือ ของที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นสัญญาว่าจะจดทะเบียนสมรสกัน ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ทอง หรือ เพชร ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า "ทองหมั้น"

การตวจนับสินสอดทองหมั้น

จะต้องตรวจนับกันต่อหน้าพ่อแม่ เฒ่าแก่ และญาติมิตรทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ท่านช่วยเป็นสักขีพยาน โดยมีเฒ่าแก่เป็นผู้กำกับดูแลขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายบอกให้ลองตรวจนับดู ควรเปิดผ้าคลุมขันหมากออก แล้วจึงส่งให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงทำการตรวจนับตามธรรมเนียม   
ฝ่ายชายจะใส่สินสอดให้เกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ เพราะถือเป็นเคล็ดว่าเงินทองจะได้เพิ่มพูน  ส่วนที่เป็นของหมั้นฝ่ายชายจะสวมให้ฝ่ายหญิงต่อหน้าสักขีพยาน  จากนั้นเฒ่าแก่ พร้อมทั้งพ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะช่วยกันโรยถั่วเขียว งาดำ ข้าวตอก ดอกไม้ และแป้งหอม ฯลฯ ลงคลุกเคล้ากับสินสอด ก่อนที่จะช่วยกันพับผ้าแดงให้เป็นถุง หลังจากนั้นแม่ของฝ่ายหญิงจะยกถุงสินสอดขึ้นมาแนบอก แล้วยกขึ้นพาดบ่า เพื่อถือเป็นเคล็ด ว่ามีเงินทองมากมายจนต้องแบกใส่หลัง จากนั้นจึงนำไปเก็บรักษาต่อไป 
การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิแก่เจ้าสาว ส่วนสินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ฝ่ายหญิงยอมสมรสด้วย ทั้งนี้ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ว่าที่เจ้าสาว หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายเจ้าสาวต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นได้ ฝ่ายชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้ 
ถ้าหากฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้รับผิดชอบใช้ค่าทดแทนได้ ซึ่งถ้าเป็นในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นถือเป็นโมฆะ นั่นหมายถึง "ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้นข้อตกลงนั้น เป็นโมฆะ" กล่าวคือ การเรียกร้องมูลค่า หากไม่ทำการหมั้นกัน เช่น นาย ก. หมั้นกับ นางสาว ข. โดยที่ นางสาว ข.ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าสุดท้ายหมั้นแล้วไม่แต่งงานด้วยกัน จะต้องจ่ายเงินสด 1,000,000 บาท ซึ่งสุดท้ายก็หมั้นกัน แต่นาย ก.ไม่อยากแต่ง นาย ก.ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสด 1,000,000 บาท ให้แก่นางสาว ข. เพราะการตั้งสัญญาข้อนั้นถือเป็นโมฆะตั้งแต่แรก
ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงไม่จำเป็นต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย
กรณีที่มีการตกลงกันว่าจะให้สินสอด แล้วฝ่ายชายไม่ให้ บุคคลที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินสอด ได้แก่ บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของหญิง เท่านั้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น